สกว. -ทีดีอาร์ไอ เผยวิจัยค่าไอซี0.27บาท
:
สกว.ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ ศึกษาวิจัยค่าไอซีจากข้อมูลดีแทค ระบุสูงสุด 0.27 บาทต่อนาที ย้ำการเก็บ 1 บาทสูงเกินจริง ลดการแข่งขันด้านราคา ทำผู้บริโภคเสียประโยชน์
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : โดย : พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับทีดีอาร์ไอ ทำวิจัยโครงการจับจ้องมองกฎระเบียบของรัฐ และได้ศึกษาวิจัยเรื่อง ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้ประกาศข้อบังคับของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
จาก การวิจัยโดยใช้ข้อมูลที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ และเปิดเผยต่อนักลงทุน เป็นข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่น พบว่าค่าไอซีที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คือ 0.27 บาทต่อนาที เป็นค่าไอซีสูงสุดที่ควรจัดเก็บ จากปัจจุบันที่มีการตกลงกันระหว่างผู้ให้บริการทุกรายที่ 1 บาทต่อนาที ซึ่งเป็นการจัดเก็บที่สูงเกินจริง
การ คิดคำนวณ จากการนำข้อมูลในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 เทียบกับข้อมูลไตรมาสที่ 3 ปี 2551 โดยใช้ต้นทุนการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (9,457 ล้านบาท เพิ่มเป็น 10,335 ล้านบาท) หารด้วยปริมาณรวมของการเรียกออกและเรียกเข้า (14,997 ล้านนาที เพิ่มเป็น 18,238 ล้านนาที) เท่ากับว่าต้นทุนเฉลี่ยการให้บริการจะเท่ากับ 0.63 บาทต่อนาที และลดลงเหลือ 0.57 บาทต่อนาที และมีต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาว (แอลลิค) ที่ 0.27 บาทต่อนาที ซึ่งคือค่าไอซี ตามที่ กทช. กำหนด
ทั้ง นี้ การคำนวณดังกล่าว เป็นการคิดรวมจากการเรียกออกและเรียกเข้า ซึ่งการเรียกออกหรือโทรออก มีต้นทุนสูงกว่า จากค่าการตลาด, การลงทุน, การดูแลลูกค้า ขณะที่การเรียกเข้าหรือรับสาย มีต้นทุนหลักเพียงการเชื่อมต่อโครงข่าย แสดงว่าค่าไอซี จึงน่าจะต่ำกว่า 0.27 บาทแน่นอน และหากคำนวณในระยะยาวจริงๆ อาจจะต่ำลงไปเหลือ 0.14 บาทต่อนาทีได้
จากกรณีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กทช. ปล่อยให้ผู้ให้บริการ ตกลงกันเองว่าจะเก็บค่าไอซีที่เท่าใด และทุกรายตกลงกันที่ 1 บาทต่อนาที และเป็นค่าที่ไม่สะท้อนต้นทุน ส่งผลให้การแข่งขันลดราคาค่าบริการหายไป ผู้ให้บริการสามารถร่วมกันกำหนดราคาสูงเกินจริงได้ ผู้บริโภคเสียประโยชน์
อีก ทั้งผู้ให้บริการมีการคิดค่าบริการแยกในเครือข่ายและนอกเครือข่าย แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าโทรในหรือนอกเครือข่าย เป็นการทำให้ผู้ใช้เสียประโยชน์ ดังนั้นผู้ให้บริการควรแจ้งอัตโนมัติให้ผู้ใช้รู้ทุกครั้งว่าเป็นการโทรนอก เครือข่าย แต่ปัจจุบันยังไม่เคยมี รวมถึงมีการออกโปรโมชั่นแปลกๆ เช่น “รับสาย รับทรัพย์” แบ่งเงินค่าไอซีที่ได้รับ 1 บาทต่อนาที ให้แก่ผู้ใช้บริการ 0.50 บาทต่อนาที ซึ่งเท่ากับยอมรับว่า ต้นทุนที่แท้จริงต่ำกว่า 0.50 บาทแน่นอน
หวั่น กทช.-ผู้ให้บริการ สมคบกำหนดค่าบริการ
ประเด็น ดังกล่าว เท่ากับว่าเกิดการ “คาร์เทล” หรือการสมคบกันกำหนดราคา เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ผิดกฎหมาย แต่ กทช. ก็ยอมรับให้เกิดขึ้น ขัดกับประกาศของ กทช. เอง โดยไม่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งที่มีอำนาจสามารถทำได้ แต่กลับใช้ข้อมูลส่วนใหญ่จากบริษัทวิจัยต่างๆ หรือไม่เคยแม้แต่เรียกผู้ให้บริการเข้ามาพิสูจน์ว่า ค่าไอซี 1 บาทต่อนาที เป็นจริงหรือไม่
“กทช. ไม่ต้องออกประกาศใหม่ แค่ทำตามประกาศของตัวเอง เข้าไปกำกับดูแลไอซี ให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค ข้อมูลมาจากดีแทค เป็นค่ายกลางๆ คำนวณได้ 0.27 บาท แสดงว่าค่ายอื่นๆ อาจสูงกว่านี้เล็กน้อย หรือต่ำกว่า และแม้สัญญาไอซีจะเป็นสัญญา 2 ฝ่าย แต่อยู่ภายใต้กฎของ กทช. สามารถเข้าไปควบคุมได้ ในต่างประเทศ ไม่มีการให้เอกชนตกลงค่าไอซีกันเอง” นายสมเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ หาก กทช. ยังไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้บริโภคจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเพื่อยื่นต่อศาลปกครอง ฟ้องร้อง กทช. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพิกเฉยและยินยอมให้ผู้ให้บริการสามารถจัดตั้ง “คาร์เทล” เอาเปรียบจากการกำหนดค่าไอซีและค่าบริการสูงกว่าต้นทุน ขัดกับประกาศของ กทช. ซึ่ง กทช. มีหน้าที่ไม่ต่างจาก “หัวหน้าคาร์เทล” ที่ร่วมมือเอาเปรียบและทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์
แนะขยายสัมปทานทางด่วน ไม่ใช่ทางออก
นาย สุเมธ องกิตติกุล ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ได้ศึกษาวิจัยระบบสัญญาสัมปทานทางด่วนและการขึ้นราคาค่าทางด่วน พบว่า หากรัฐขยายเวลาสัญญาสัมปทานออกไปจากเดิม เพื่อชดเชยรายได้ให้เอกชน จากการระงับการขึ้นค่าทางด่วน จะทำให้เอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ถือว่าไม่โปร่งใส
สาเหตุ ของปัญหาดังกล่าว เกิดจากการที่รัฐไม่อนุมัติการขึ้นราคาค่าทางด่วนตามที่สัญญากำหนด ทำให้เอกชนไม่ได้รับรายได้อย่างเป็นธรรม จึงเรียกร้องขอขยายเวลาสัญญา รัฐบาลควรคำนวณความเสียหายร่วมกับเอกชนคู่สัญญา และจ่ายเป็นค่าชดเชยตามความเสียหาย เพื่อสร้างความรับผิดชอบทางการเมือง และประชาชนจะได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น และยอมรับการขึ้นค่าทางด่วนตามที่เป็นจริง
ส่วน แนวทางในอนาคต รัฐควรเปิดประมูล เอกชนรายใดเสนอการชดเชยน้อยที่สุด ก็ได้รับสัญญาสัมปทานไป และถ้าได้รับเงินครบตามกำหนด สัญญาสัมปทานก็สิ้นสุดลง เอกชนได้รับความเป็นธรรม มีการประกันรายได้ รัฐก็สามารถปรับค่าทางด่วน หรือตัดทางด่วนสายใหม่ได้ ไม่มีปัญหาข้อพิพาทฟ้องร้อง และไม่ต้องแก้ไขสัญญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น