วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

กล้องจิ๋วส่องหาเซลล์มะเร็ง ซ่อนยังไงก็ไม่รอด



วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา:

เนคเทค-มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พัฒนาเครื่องตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก ตรวจพบความผิดปกติได้ระดับเซลล์ แม้ยังไม่ปรากฏก้อนเนื้อร้าย

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สาลินีย์ ทับพิลา

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) เปิดเผยว่า เครื่องตรวจมะเร็งระยะเริ่มแรก เป็นโครงการร่วมระหว่างเนคเทคกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐ ประสิทธิภาพของเครื่องสามารถพบตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลของเซลล์ ก่อนที่จะปรากฏเป็นเซลล์ร้าย

การพัฒนาเครื่องตรวจมะเร็งฯ อาศัยเทคโนโลยีแสง (โฟโตนิกส์) ไมโครและนาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างกล้องเอนโดสโคปจิ๋ว (medical endoscope) ซึ่งประกอบด้วย เมมส์ สแกนเนอร์ (MEMS Scanner) และเลนส์จิ๋ว 2 เลนส์

จึงให้ภาพที่ชัดเจนมากกว่ากล้องเอนโด สโคปที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบัน เพื่อใช้ตรวจลักษณะบ่งชี้โรคมะเร็งลำไส้ก่อนที่จะกลายเป็นเนื้อร้าย ขณะเดียวกันสามารถตรวจใต้ชั้นผิวได้ลึก 0-500 ไมครอน สำหรับดูความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ลึกภายใน

ทั้งนี้ การตรวจมะเร็งระยะเริ่มแรก เป็นการตรวจร่างกายบุคคลที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เพื่อค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มก่อตัว ซึ่งสามารถบำบัดรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ที่ตรวจพบก็ต่อเมื่อเกิดเนื้อร้ายขึ้นแล้ว และได้ลุกลามเป็นมะเร็งลำไส้ระยะก่อนสุดท้ายและระยะสุดท้าย ทำให้มีโอกาสต่ำที่จะรักษาหาย

ทีมงานพัฒนาเครื่องต้นแบบเป็น 2 ขนาดคือ 5 มิลลิเมตรตรวจมะเร็งภายในร่างกาย และ 10 มิลลิเมตรตรวจมะเร็งภายนอกร่างกาย สามารถใช้ควบคู่กับตัวบ่งชี้มะเร็งแบบเรืองแสง (fluorescence tumor marker) ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นเป็นการเฉพาะ

ตัวบ่งชี้จะเข้าไปจับเซลล์มะเร็งได้ แบบมุ่งเป้า ช่วยยืนยันความถูกต้องของผลการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ระยะแรกโดยเครื่องเอนโด สโคป ด้วยการบ่งชี้บริเวณที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ แม้จะยังไม่ปรากฏก้อนเนื้อร้าย

ปัจจุบันเครื่องตรวจนี้ อยู่ระหว่างการทดสอบเก็บข้อมูลทางคลินิก ผ่านอาสาสมัครในสหรัฐประมาณ 10 คน ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ระยะเริ่มแรก

เครื่องตรวจเอนโดสโคปนี้ ใช้งบวิจัยและพัฒนากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 345 ล้านบาท

เนคเทคมีแผนการที่จะพัฒนาเพิ่ม ประสิทธิภาพของเครื่องต้นแบบ ให้รองรับกลุ่มมะเร็งพื้นผิวชั้นบนที่พบมากในคนไทย โดยเริ่มดำเนินการขอทุนวิจัยจากหน่วยงานต้นสังกัดคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

นวัตกรรมนี้ เป็นประโยชน์ต่อการรักษามะเร็งลำไส้และมะเร็งอื่นๆ ในกลุ่มมะเร็งพื้นผิวชั้นบน (Epithelial Cancers) เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งผิวหนัง มะเร็งสมอง มะเร็งในช่องท้อง มะเร็งตับ มะเร็งโพรงจมูก และมะเร็งในปาก เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: