:ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน นายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ (สคพท.)
กู รูอินเทอร์เน็ต เผยสังคมออนไลน์ ดันคนทำความผิดบนเน็ตสูงขึ้น วอนนักท่องเน็ตไทยศึกษากฎหมายคอมพ์ให้รอบคอบ เผยการใช้ในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่มาเป็นอันดับ 1 คดีความคอมพิวเตอร์ 10 อันดับแรกที่โลกให้ความสนใจ
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน นายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ (สคพท.) กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย นอกจากจะผลักดันให้เกิดธุรกิจ หรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาคดีความบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทั่วโลกมากกว่า 1,463 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีคนที่คิดไม่ชอบมาพากล ก่อปัญหาขึ้นมากมายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ทุกประเทศต้องออกกฎหมายป้องปราม และปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเทอร์เน็ต
ที่ผ่านมา สถาบันความปลอดภัยคอมพิวเตอร์หรือ “ซีเอสไอ (Computer Security Institute)” และหน่วยงาน ด้านการบุกรุกคอมพิวเตอร์ (Computer Intrusion Squad) ของเอฟบีไอ สาขาซานฟรานซิสโก (San Francisco Federal Bureau of Investigation) ได้เผยข้อมูลของคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต ที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1. การเข้าใช้เน็ตในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ (Insider Abuse of Net Access) คิดเป็น 59%
ทั้งนี้ โดยเฉพาะพนักงานในองค์กรธุรกิจ ที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานไปแล้ว แต่ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลในบริษัทได้ และนำข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทไปใช้ในทางไม่ชอบ ซึ่งคดีนี้เคยเกิดขึ้นที่อเมริกา มีการฟ้องร้อง และเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล
อับดับ 2 ไวรัส (Virus) คิดเป็น 52% อันดับ 3 ความเสียหายเกี่ยวกับแลปท็อป หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ (Laptops or Mobile Device) คิดเป็น 50% อันดับ 4 คือ การหลอกขอข้อมูล ( Phishing) คิดเป็น 26% และอันดับ 5 มี 3 ประเภท คือ การใช้ข้อความทันใจในทางที่ผิด (Instant Messaging Misuse) การปฏิเสธการให้บริการ (Denial of Service) และการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต (Unauthorized Access to Information) คิดเป็น 25%
เขาระบุด้วยว่า โดยเฉพาะความนิยมในเครือข่ายไร้สาย ที่สามารถใช้แลปท็อป หรืออุปกรณ์มือถือ เชื่อมต่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดความผิดทางเน็ตเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่หากเป็นเครือข่ายใช้สาย มักจะมีการป้องกันการเข้าถึงอย่างรัดกุม แต่เครือข่ายไร้สาย มักจะไม่ป้องกันการเข้าถึง ดังนั้น จึงมีผู้พยายามใช้เครือข่ายไร้สาย โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจจะผิดกฏหมายในบางประเทศ
“จากการที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกัน ทั่วโลก และทั่วทุกวงการ ทำให้เกิดการละเมิดและการฉ้อโกงกันมากมาย ประเทศต่างๆ จึงพากันออกกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบสุข เช่น สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายไอทีระดับรัฐบาลกลางกว่า 20 ฉบับ แล้วยังมีกฎหมายไอทีระดับรัฐแต่ละรัฐอีกด้วย”
พร้อมกันนี้ เขายังยกตัวอย่างคดีทางคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ที่มีการฟ้องร้อง และถูกดำเนินคดีไปแล้ว เช่น คดีการลักลอบใช้ไวไฟ ซึ่งถือเป็นคดีแรกในโลกที่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการลักลอบใช้ไวไฟ โดยจำเลย คือ ชาวอังกฤษ อายุ 24 ปี ได้ลักลอบใช้สัญญาณไวไฟ โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยการขับรถวนตรวจสอบหาตำแหน่งของจุดเข้าถึงของเครือข่ายที่เปิดใช้ไวไฟ โดยไม่ต้องมีรหัสผ่าน
ชายอังกฤษคนนี้ถูกจับตัวดำเนินคดี และถูกตัดสินพิพากษาโดยศาลในท้องถิ่นนั้น ซึ่งห้ามการใช้เครือข่ายไร้สายโดยผู้ที่ไม่เป็นสมาชิก ทำให้เขาได้รับโทษโดยการถูกควบคุมความประพฤติเป็นเวลา 1 ปี และถูกปรับเป็นเงิน 500 ยูโร หรือประมาณ 23,500 บาท เป็นต้น
กูรูอินเทอร์เน็ตไทย กล่าวว่า ยังมีตัวอย่างคดีในสหรัฐอเมริกามากมาย ซึ่งต่อไปในประเทศไทย ก็น่าจะมีคดีทำนองเดียวกับในอเมริกา ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องศึกษาหาความรู้จากตัวอย่างคดีที่เกิด ขึ้น และศึกษารายละเอียดของกฏหมายคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตที่มีใช้อยู่ในไทยอย่างรอบคอบก่อนที่จะใช้งาน
โดย เอกรัตน์ สาธุธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น