วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ไฟฟ้าส่องสว่างจากพลังแก้วมังกร



:

แก้ว มังกร ผลไม้รสชาติหอมหวานบนโต๊ะอาหาร กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโซลาร์เซลล์ เมื่อนักวิจัยพบความสามารถในการดูดซับแสงอาทิตย์ของมัน

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สาลินีย์ ทับพิลา

นายอานนท์ จินดาดวง ผู้ช่วยนักวิจัยห้องปฏิบัติการอุปกรณ์นาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทีมงานศึกษาหาสารไวแสงหรือสารเคลือบ จากธรรมชาติ สำหรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสง

เพื่อทดแทนสีสังเคราะห์ที่ราคาแพง และพบว่าสารละลายจากแก้วมังกรมีประสิทธิภาพสูง ในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

“อิเล็กโทรดของโซลาร์เซลล์ชนิดสีย้อมไว แสงที่เป็นกระจกรับแสงนั้น ปกติจะย้อมด้วยสีสังเคราะห์จากสารรูทีเนียม ซึ่งมีราคาสูง ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไว แสง ก็มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับการสังเคราะห์แสงของพืช นักวิจัยจึงสนใจหาตัวสีย้อมจากพืชผักในธรรมชาติ เพื่อทดแทนแทนสีสังเคราะห์" นายอานนท์กล่าวในงานสัมมนา นาโนไทยแลนด์ ซิมโพเซียม 2008

ทีมวิจัยได้ศึกษาหาสารเคลือบในผัก ผลไม้และดอกไม้ที่มีสี ไม่ว่าจะเป็น มะละกอ แก้วมังกร ใบบัวบก กะหล่ำปลีม่วง มะเขือเทศ ดอกอัญชันและดาวเรือง มาสกัดเอาสีด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้ตัวทำละลาย

จากนั้นแยกเนื้อออกไป ก็จะได้สารละลายจากพืชเหล่านั้นมาทำสีย้อมสำหรับโซลาร์เซลล์ จากการทดสอบประสิทธิภาพด้วยเครื่องวัดกระแสและศักย์ พบว่าสารละลายจากแก้วมังกรให้ประสิทธิภาพดีที่สุดที่ 1% ในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

สำหรับประสิทธิภาพเพียง 1% อาจจะดูด้อยลงเมื่อเทียบกับผลวิจัยอื่นของศูนย์นาโนเทค ที่พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดสีย้อมไวแสงจากสารรูทีเนียมได้ประสิทธิภาพ 10-11% ใกล้เคียงกับโซลาร์เซลล์ราคาแพงที่ทำจากซิลิกอน

แต่ตัวเคลือบจากแก้วมังกรมีจุดเด่นที่ต้นทุนต่ำ กระบวนการทำไม่ซับซ้อน จึงเหมาะกับพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่มีของเหลือทางการเกษตร

นอกจากงานวิจัยตัวเคลือบจากสารธรรมชาติ ของศูนย์นาโนเทคแล้ว ก็มีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่วิจัยแบ่งสีธรรมชาติเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสีรวมของพริก (สีแดง) แครอท (สีส้ม) มังคุด (สีม่วง) และสะเดา (สีเขียว) กลุ่มสีเขียวล้วนจากสาหร่ายสไปรูลิน่า ฟ้าทลายโจร ดอกปีบและดอกอัญชัน

แต่ผลที่ได้จากทั้ง 2 กลุ่มสีธรรมชาติพบว่า การนำมาย้อมเพื่อทำเป็นโซลาร์เซลล์ สามารถแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ต่ำกว่า 0.1%

ไม่มีความคิดเห็น: